เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองนี้ อัมพวา สมุทรสงคราม มีของดีมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเอย ทั้งวัดเอย ซึ่ง วัดประดู่ พระอารามหลวง ก็เป็นวัดหนึ่งที่มีความน่าสนใจและมีของดีให้ชวนติดตาม
วัดประดู่เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ. 2320 มีเจ้าอาวาสมาหลายรูป แต่ที่มาทราบนามในช่วงหลังเรียงลำดับตั้งแต่ หลวงปู่มา หลวงปู่กลม หลวงปู่กล่อม หลวงปู่แจ้ง หลวงปู่แจ่ม พระครูนิพัทธวรการ (เอี้ยง) พระครูนิพัทธวรการ (เพี้ยน) โดยปัจจุบันมี พระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข หรือ พระครูพิศาลจริยาภิรม เป็นเจ้าอาวาส
วัดประดู่มีประวัติที่เป็นประวัติศาสตร์ อยู่ในสมัยที่หลวงปู่แจ้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นทางชลมารคมายังวัดประดู่ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2447 โดยพระองค์ทรงทำครัวเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่แห่งนี้ ดังปรากฏเป็นหลักฐานในจดหมายเหตุประพาสต้น ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงภาพพระฉายาลักษณ์ขณะทรงทำครัวที่เราเห็นกันคุ้นตา และจากการเสด็จประพาสต้นครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาหลวงปู่แจ้งอย่างมาก ซึ่งพระมหาสุรศักดิ์บอกว่า ถ้าเป็นภาษาพวกเรา คือ ทรงนับถือหลวงปู่แจ้งมากเหมือนเป็นพระอาจารย์ ทรงนิมนต์หลวงปู่เข้าวังหลายครั้ง และพระองค์ได้ถวายเครื่องราชศรัทธาแด่หลวงปู่อยู่เนือง ๆ อาทิ พระแท่นบรรทม ตาลปัตรพัดรอง นามาภิไธยย่อ จ.ป.ร. และ ตาลปัตรพัดรอง นารายณ์ทรงครุฑพร้อมปลอกหนัง ตู้พระไตรปิฎก ปิ่นโต บาตรพร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกอักษรย่อ ส.พ.ป.ม.จ. ย่อมาจากสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ สลกบาตร กาน้ำทองแดง นาฬิกาปารีส เป็นต้น
พระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ เล่าต่อด้วยสำเนียงพื้นถิ่นและท่าทีที่มีเมตตา ว่า เมื่อเห็นว่าทางวัดมีเครื่องราชศรัทธาเป็นจำนวนมากและเก็บรักษาไว้อย่างดี น่าจะนำออกมาให้ประชาชนได้ชมและศึกษา ประกอบกับมีความคิดที่อยากจะสร้างหุ่นหลวงปู่แจ้งและอดีตเจ้าอาวาส เพื่อจัดแสดงร่วมกับเครื่องราชศรัทธาที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานมา จึงได้ไปติดต่อจ้างปั้นหุ่นไฟเบอร์กลาส แต่เขาไม่รับงานนอก จึงลองถามราคาตกประมาณหุ่นละ 6 แสนบาท จึงต้องล้มความตั้งใจไป หลังจากนั้นบังเอิญมีโยมใหญ่ (ปู่ชม ยังมีสุข) ซึ่งเป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ในพื้นที่ถามอาตมาว่า ปั้นหุ่นเหมือนได้หรือไม่ เพราะอยากให้ลูกหลานเอากระดูกใส่ตอนตาย อาตมาก็ตอบว่าไม่เป็น แต่ก็กลับมาคิดว่าน่าจะลองปั้นดู จึงปั้นหุ่นโยมใหญ่เป็นหุ่นครูหุ่นแรก แล้วก็ปั้นหุ่นหลวงปู่แจ้งและเจ้าอาวาสรูปอื่น ๆ ทุกรูป พอเริ่มปั้นได้ความคิดก็ไหลมาเรื่อย แล้วก็ปั้นเกจิอาจารย์ลุ่มน้ำแม่กลอง
จึงเป็นที่มาของการจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พิพิธภัณฑ์นี้เป็นเรือนไทยแบบโบราณ 2 ชั้น โดยชั้นบนจัดแสดงเครื่องราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้แด่หลวงปู่แจ้ง และหุ่นเหมือนอดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ และพระเกจิดังลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูป ส่วนชั้นล่างเป็นการจัดแสดงหุ่นครู คือปู่ใหญ่ แฝดสยามอิน-จัน ย่านาก-พ่อมากและลูก ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แม่ย่านาง ครูเอื้อ สุนทรสนาน และข้าวของเครื่องใช้โบราณที่ทางวัดเก็บสะสมไว้ หรือมีผู้นำมาบริจาคและที่ขุดพบได้ในสมัยต่าง ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ยังมี พระตำหนักสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นเรือนไทยอีกหลังหนึ่ง มีที่มาจากสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเมื่อ 4 มิถุนายน 2548 จึงเกิดแรงบันดาลใจพระมหาสุรศักดิ์จัดสร้างพระสังฆราชานุสรณ์ และปั้นหุ่นสมเด็จพระสังฆราชอีกหลายรูป ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) วัดใหญ่สุวรรณารามราชวรวิหาร จ.เพชรบุรี สมเด็จพระอริยวงษาญาณ ( ศร) วัดระฆังโฆษิตาราม กทม. สมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ , สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดราชสิทธาราม กทม. หรือสังฆราชไก่เถื่อน , สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. บิดาแห่งการศึกษาคณะสงฆ์ไทย, สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม กทม., สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม., สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ กทม. และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
การจัดแสดงทั้งหลายทั้งปวงในพิพิธภัณฑ์และตำหนักสมเด็จฯนั้น พระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ให้แนวทางว่า ถ้าจัดแสดงแต่ของโบราณคนจะไม่สนใจ จึงนำมาผสมผสานกันระหว่างประติมากรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คนที่เข้ามาจะได้ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ หลายมุม ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ความเพียร จิตวิญญาณของคนโบราณ อารยธรรม ประเพณี ความประณีตละเอียดอ่อนเพื่ออวดความรู้ความสามารถ เนื่องจากวันนี้คนเริ่มออกห่างจากสิ่งเหล่านี้ จึงพยายามเอาเรื่องเก่า ๆ เข้ามาเพราะอยากให้กลับมาสนใจและศึกษา แม้แต่ลวดลายที่นำมาใช้เขียนตามเสา หรือผนัง และเพดาน ในพิพิธภัณฑ์จะเป็นลายไทย ลายฉลุแบบโบราณ หากศึกษาให้ดีจะเข้าใจถึงอารมณ์และจิตใจของคนทำได้ด้วย ที่สำคัญภายในพิพิธภัณฑ์จะมีศิลปะของทุกภาคมาตกแต่ง เพราะถือว่าเป็นคนไทยด้วยกัน
สำหรับหุ่นที่นำมาจัดแสดงนั้น ทุกหุ่นล้วนเกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยสองมือของพระอาจารย์สุรศักดิ์ทั้งสิ้น และที่น่าสนใจคือหุ่นเหล่านั้นเป็นหุ่นที่ปั้นจาก ดินสอพอง แทนที่จะเป็นไฟเบอร์กลาส หรือดินเหนียว อย่างที่เคยคุ้น ซึ่งพระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ เล่าถึงที่มาของการใช้ดินสอพองปั้นหุ่นว่า เกิดจากปัญหาปั้นดินเหนียวแล้วแตกง่าย มาใช้ปูนปลาสเตอร์ก็จะมีดีที่เรื่องการหล่อ พอปั้นด้วยปูนซีเมนต์ก็จะแข็งเร็วแต่งไม่ได้ คิดไปคิดมาเลยลองเอาดินสอพองมาละลายน้ำผสมน้ำมันวานิชและยูรีเทนแล้วนวดให้ เข้ากันจนเหมือนแป้งขนม ปรากฏว่ามีเวลาให้แต่งเกลาได้และอยู่ได้นานเป็นเดือน พอแห้งสนิทจะอยู่ได้ทนนาน ยิ่งนานยิ่งแข็ง ถ้าชำรุดก็ซ่อมได้ง่าย
พระอาจารย์มหาสุรศักดิ์ เล่าด้วยว่า เวลาปั้นจะใช้เวลาตอนกลางคืน กลางวันปั้นไม่ได้ เพราะจะมีโยมมาคุยด้วย การทำงานกลางคืนก็เพลินดีเริ่มตั้งแต่ 2 ทุ่ม บางทีถึงตี 5 สว่างก็มี เพราะสงบ เงียบ สบาย แต่ละหุ่นใช้เวลาเพียงประมาณ 1 เดือน เริ่มปั้นหุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ถึงวันนี้ที่วัดมีมากกว่า 30 หุ่น ปัจจัยแต่ละหุ่นไม่ถึง 5 พันบาท ปั้นหมดทั้งวัดยังไม่ถึงแสน แต่ถ้าไปจ้างเขาปั้น 6 ล้านเขายังไม่เอาเลย พอปั้นเสร็จแล้วก็ได้อรรถรสพอ ๆ กัน
ไม่เพียงหุ่นที่จัดแสดงในวัดประดู่เท่านั้นที่เกิดจากมือของท่าน ล่าสุดพระอาจารย์สุรศักดิ์เพิ่งรับนิมนต์ไปปั้นหุ่นบูรพาจารย์วัดปากน้ำ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเตรียมลงมือปั้นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลโดยท่านลงทุนเดินทางไปถึง ประเทศอินเดียเพื่อดูเค้าโครงหน้าตาของคนอินเดียมาแล้ว เพื่อกลับมาปั้นแล้วจะนำไปไว้ที่สถานปฏิบัติธรรมเขาพระพุทธบาท บ้านพุกระถิน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่า คือ พระอาจารย์ท่านสร้างสรรค์ปั้นหุ่นขึ้นมาโดยไม่เคยเรียนเรื่องศิลปะ ไม่มีพื้นความรู้เรื่องงานปั้นเลยแม้แต่น้อย แต่กลับสามารถใช้ความพยายามบวกกับจินตนาการจนประสบความสำเร็จ ท่านบอกว่า เป็นงานประติมากรรมผสมหัตถกรรม โดยใช้การสังเกตและจินตนาการช่วย เป็นความมุ่งมั่นปรารถนาอยากให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้ศึกษาและ เรียนรู้ในหลากหลายสิ่งอย่างที่แฝงอยู่ทำให้ได้แง่คิดมากมาย พลางยกตัวอย่างชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงของเก่า ท่านชี้ไปที่โกศลูกหนึ่งที่ท่านเก็บมาเพราะมีคนเอามาทิ้ง แล้วสอนว่า เห็นโกศนี้แล้วทำให้คิดได้ว่า คนเราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ต้องทำความดีไว้บ้าง เพื่อเวลาตายไปลูกหลานจะได้ระลึกถึงไม่ใช่เราตายแค่โกศเขายังไม่เอาไว้ เลย...
ผู้ที่สนใจอยากเรียนปั้นหุ่นดินสอพองพระอาจารย์ท่านบอกว่า ขอให้มาจะยินดีมาก เพราะอยากให้ชิ้นงานสืบทอดต่อไป กลัวว่าถ้าหมดยุคไปก็หมดไปจริง ๆ ไม่มีคนมาสานต่อ
ขอขอบคุณ ข้อมูลโดย :: " ทีมงานปิดทองหลังพระ " และศิษย์พระมหาสุรศักดิ์ ทุกท่านที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนเช่าพื้นที่เว็บไซต์ และจดทะเบียนโดเมนเนม :: Tony Ma (ปี 62 และปี 63)