" พระสุภัทรบพิตร " เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ก่ออิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์ใหญ่คู่บ้านคู่เมืองของชาวบุรีรัมย์ โดยประดิษฐานบน ยอดเขากระโดง(วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง) บ.น้ำซับ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานกว้าง 14 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด เศียร 24 เมตร บนความสูง 265 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศเหนือ อันเป็นที่ตั้งของเมืองบุรีรัมย์หรือเมืองเเป๊ะ ซึ่งได้จัดสร้าง ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2512 โดย นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในขณะนั้น (พ.ศ. 2511-2526) ร่วมกับพ่อค้า ประชาชน ข้าราชการและผู้มีจิต ศรัทธาเลื่อมใสในแนวความคิดและโครงการต่างๆ ของ หลวงพ่อบุญมา ปัญญาปโชโต เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ในขณะนั้นได้ร่วม กันจัดสร้างขึ้น บริเวณยอดเขากระโดง เพื่อให้เป็นที่บูชาสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ทำการวางศิลาฤกษ์ในการสร้างเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2512 สร้างเสร็จสมบูรณ์ เเละพุทธาภิเษกเรียบร้อยเมื่อ ปี พ.ศ.2514
ภายในพระเศียรขององค์พระมี พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จมาเองตามคำอธิฐานจิตของนางแจ๋ว มารดาของ นายเสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน เมื่อมีการสร้างองค์พระสุภัทรบพิตร ขึ้น นายเสรีฯ จึงได้นำมาบรรจุไว้ในพระเศียรนี้
จังหวัดบุรีรัมย์ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองบุรีรัมย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันจัด งาน ประเพณีขึ้นภูเขาไฟกระโดง ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นหรือประเพณีเดือน 5 ที่ได้จัดสืบทอดต่อกันมายาวนานหลายปีแล้ว (หลังจากในอดีตประชาชนในท้องถิ่นละแวกเขากระโดงได้ขึ้นไปนมัสการพระสุภัทรบพิตร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขากระโดงมายาวนานในช่วงเดือน 5 เทศกาล สงกรานต์หรือปีใหม่ไทย) และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีเหล่าข้าราชการแต่งกายเป็นเทวดา นางฟ้าและประชา ชนกว่า 1,000 คน ได้ร่วมขบวนพิธีแห่อัญเชิญ ผ้าอังสะความยาว 39 เมตร เดินขึ้นบันไดนาคราช จำนวน 297 ขั้น เพื่อประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าอังสะผืนใหม่ให้แก่ องค์พระสุภัทรบพิตร ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดภูเขาไฟกระโดง พร้อมกันนี้พระภิกษุสงฆ์ 99 รูป ยังได้สวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้ บ้านเมืองสงบสุข นอกจากนี้ยังมีการประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาไฟกระโดงพร้อมมีการแสดงวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้าน ชุดระบำภูเขาไฟ และ ชุดบุรีรัมย์รุ่งเรือง อย่างสวยงามตระการตาด้วย
บุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่พบซากภูเขาไฟมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยว ได้แวะเวียนไปเยี่ยมชม นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำดินภูเขาไฟซึ่งมีแร่ธาตุต่างๆ มาย้อมผ้าฝ้าย - ผ้าไหม จึงนุ่มและมีสีสวยของดินภูเขาไฟ กลายเป็นสินค้าหายาก หนึ่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย โดยซากภูเขาไฟที่พบนั้นมีทั้งหมด 6 ลูก อันได้แก่ ภูเขาไฟกระโดง ภูเขาไฟพนมรุ้ง ภูเขาไฟอังคาร ภูเขาไฟหลุบ หรือภูหลุบ ภูเขาไฟ ไปรบัด และภูเขาไฟเขาคอก สำหรับภูเขาไฟกระโดง ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานภูเขาไฟกระโดงซึ่งมีพื้นที่ราว 1,450 ไร่ ถือเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมาแล้ว หลายพันปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นภูเขาไฟที่มีสภาพปากปล่องสมบูรณ์ดีและมีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย เป็น 1 ใน 6 ลูกของภูเขาไฟใน จ.บุรีรัมย์ มีอายุประมาณ 300,000 - 900,000 ปี สูงจากระดับน้ำทะเล 265 เมตร ซากปากปล่องเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ยอดเนินเขาเป็นขอบปล่องด้านทิศใต้เรียกว่า เขาใหญ่ ส่วนยอด เนินเขาเป็นขอบปล่องด้านทิศเหนือ เรียกว่า เขาน้อยหรือเขากระโดง ส่วนบริเวณที่เป็นขอบปล่องปะทุคือบริเวณที่เป็นหุบเขา ปัจจุบันมีลักษณะเป็นสระน้ำ ใน ปัจจุบันบริเวณตรงปากปล่องมีลักษณะเป็นหลุมลึก ทางเดินเท้าก่อด้วยหินและมีระเบียงไม้ชมวิว เราสามารถเดินลงไปเที่ยวชมหลุมที่เกิดจากการปะทุได้อย่าง สะดวกสบาย ไม่ต้องกลัวว่าจะระเบิดขึ้นมาอีกเพราะภูเขาไฟในบุรีรัมย์ทั้งหมดดับสนิทไปนานแล้ว
เดิมชาวบ้านเรียก เขากระโดง ว่า พนมกระดอง เป็นภาษาเขมร แปลว่า ภูเขากระดอง (เต่า) เพราะมีรูปลักษณ์คล้ายกระดองเต่า ต่อมาจึงเรียก เพี้ยนเป็น กระโดง
วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏ ร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน การขึ้นไปยังวนอุทยานภูเขาไฟกระโดงสามารถทำได้ 2 วิธี คือการเดินขึ้นบันไดนาคราชจำนวน 297 ขั้น มีความสูงประมาณ 265 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2512 หรือขับรถยนต์ขึ้นไปถึงยอดเขากระโดง ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ ตั้งเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ โดยก่อนถึง ยอดเขาจะเห็นสระน้ำมณีวรรณ อยู่ทางด้านขวามือ สระน้ำนี้เชื่อว่าเดิมเป็นปากปล่องภูเขาไฟ บนยอดเขาเป็นลานกว้างโดยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระสุภัทรบพิตร และ บริเวณใกล้เคียงกันนั้นยังเป็นที่ประดิษฐานปรางค์กู่โบราณ หรือปราสาทหินเขากระโดง ซึ่งพระยาประเสริฐ สุนทราศรัย อดีตเจ้าเมืองบุรีรัมย์ กับคุณหญิง ประเสริฐ สุนทราศรัย มีจิตศรัทธาเลื่อมใสได้สร้างขึ้นไว้ที่ยอดเขากระโดง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2448 เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และให้เป็นปูชนียสถาน สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งยังมีสะพานแขวนลาวาให้สามารถยืนชมทัศนียภาพบริเวณปากปล่องภูเขาไฟจากมุมสูงได้อย่างชัดเจน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2505 ตระกูลสิงหเสนีย์ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้นมาใหม่ มีขนาดความยาว 2 ศอก 1 คืบ ความกว้าง 1 ศอก แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในปรางค์กู่โบราณ ซึ่งเดิมเป็นปราสาทหินทรายก่อบนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 4 เมตร พร้อมกับได้บูรณะและสร้างมณฑปครอบ ทับไว้เนื่องจากตัวปราสาททรุดโทรมปรักหักพัง ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ปรางค์กู่โบราณแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2518 โดยมีขอบเขตเนื้อที่โบราณสถาน 1 งาน 50 ตารางวา
ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปกราบไหว้ขอพรองค์พระสุภัทรบพิตร และชมปากปล่องภูเขาไฟเป็นจำนวนมากเกือบ 200,000 คน นักท่อง เที่ยวสามารถชม หินลอยน้ำ หรือ หินฟองน้ำ กระจายอยู่โดยรอบปากปล่องภูเขาไฟ ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วภายในวนอุทยานฯ ยังมีพันธุ์ ไม้พื้นเมือง ยังมีต้นไม้ในตำนานที่หาชมได้ยาก ชื่อว่าต้น โยนีปีศาจ ที่ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือภาษา พื้นถิ่นชาวเขมรเรียกว่าต้น กะ-นุย-ขะ-มอย ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและศึกษาประวัติความเป็นมา โดยต้นโยนีปีศาจนั้นเป็นไม้ประเภทยืนต้น ลักษณะไม้ เปลือกแข็ง ลำต้นสูงใหญ่ จะเริ่มออกดอกในระยะต้นของเดือนพฤษภาคม ลักษณะของผลคล้ายๆ ลูกมะกอก ขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร เมื่อลูกสุกประมาณ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะหล่นลงมาและแตกออกเป็นสองซีก เมื่อนำไปกดกับดินทรายดูจะปรากฏรอยคล้ายอวัยวะเพศหญิง มีเฉพาะในประเทศไทย เป็นพันธุ์ ไม้พื้นเมืองหายากที่มักพบในบริเวณเขตภูเขาไฟเก่าเท่านั้น
ตามตำนานเรื่องเล่า ต้นโยนีปีศาจดังกล่าว เป็นต้นไม้ตำนานรักระหว่าง ท้าวปาจิต โอรสแห่งนครธม กับ นางอรพิม หญิงสาวสามัญชน ที่ทั้งสอง มีความรักต่อกัน แต่กลับมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกัน ทั้งต้องผจญภัยฟันฝ่าอุปสรรค ซึ่งเป็นเรื่องราวปาฏิหาริย์เป็นเวลากว่า 7 ปี แต่ระหว่างที่ต้องผจญภัย ในป่า นางอรพิม เกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงอธิษฐานจิตขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แปลงร่างให้เธอเป็นชาย โดยขอให้บางส่วนที่เป็นหญิงหลุดหายไปจากร่าง จากนั้น อรพิมก็ได้นำโยนีหรืออวัยวะเพศหญิงไปฝากไว้ที่ต้นมะกอกโคก หรือต้นโยนีปีศาจดังกล่าว เมื่อรอดชีวิตออกจากป่าได้ในที่สุดอรพิมก็ได้กลับมาเป็นหญิง และ ครองรักกับท้าวปาจิตเหมือนเดิม
สำหรับบริเวณใกล้เคียงกับวนอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมาก คือ สนามฟุตบอล นิวไอโมบาย สเตเดี้ยม ของทีมสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ( Buriram United, Buriram UTD)
พิธียกฉัตร พระสุภัทรบพิตร
ขอขอบคุณ ที่มาข้อมูลโดย :: www.paiduaykan.com , www.tripadvisor.ch , www.ldm.in.th , www.dhammajak.net ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนเช่าพื้นที่เว็บไซต์ และจดทะเบียนโดเมนเนม :: Tony Ma (ปี 62 และปี 63)