ภาพขยาย....


 

 

    เมนูลัก " เหรียญท้าวเวสสุวรรณ "
   เปิดบันทึกตำนาน " หลวงพ่ออิฏฐ์ "
   ตำนาน...ท้าวเวสสุวรรณวัดจุฬามณี
   ท้าวเวสสุวรรณ พิมพ์จำปีใหญ่ 45
   ประวัติ " ท้าวเวสสุวรรณ "
   ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น มีทรัพย์เหลือล้น
      - วัตถุประสงค์ / รูปแบบเหรียญ
      - ชนวนมวลสารในการจัดสร้าง
      - พิธีบวงสรวง ฯ 15 ก.ค.62
      - พิธีมหาพุทธา - เทวาภิเษก 25 ก.ค.62
      - พิธีมหาพุทธา - เทวาภิเษก 10 ส.ค.62
      - พิธีเททองหล่อฯ 31 ส.ค.62
   วัตถุมงคลวัดอื่นๆ 
      - วัดแก้วเจริญ  
      - วัดประดู่พระอารามหลวง
      - ท้าวเวสสุวรรณ " มีทรัพย์เหลือล้น "
      - เหรียญเสมา " พระสุภัทรบพิตร "
    - เหรียญ " พระนาคปรกเจริญพร "
   ตรวจสอบรหัสสมาชิกกลุ่มฯ
   
   



 


               ท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท่านท้าวกุเวร  นั้น ส่วนมากเราจะพบเห็นในรูปลักษณ์ของยักษ์ ยืนถือกระบองยาว หรือ คทา (ไม้เท้าเป็นรูปกระบอง) กันซะส่วนใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังมีรูปเคารพของท่านในรูปของชายนั่งในท่า มหาราชลีลา  มีลักษณะอันโดดเด่นคือ พระอุระพลุ้ย อีกด้วย  กล่าวกันว่า ผู้มีอาชีพสัปเหร่อ  หรือ  มีอาชีพประหารชีวิตนักโทษ  มักพกพารูปท้าวเวสสุวรรณ  สำหรับคล้องคอเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง  ป้องกันภัย จากวิญญาณร้าย ที่จะเข้ามา เบียดเบียน ในภายหลัง ภาพลักษณ์ของท้าวกุเวร  ที่ปรากฎในรูปของชายพุงพลุ้ย เป็นที่เคารพนับถือ ในความเชื่อว่า เป็นเทพแห่งความร่ำรวย แต่ท้าวกุเวรในรูปของท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งมาในรูปของยักษ์ เป็นที่เคารพ นับถือว่า  เป็นเครื่องราง ของขลัง ป้องกัน ภูติผีปีศาจ
               “ สารานุกรมไทย ” ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 3 หน้า 1439
                กล่าวถึง ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ไว้ว่า กุเวร-ท้าว พระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ มียักษ์  และคุยหกะ (ยักษ์ผู้เฝ้าขุมทรัพย์)  เป็นบริวาร ท้าวกุเวรนั้น บางทีก็เรียกว่า ท้าวไวศรวัน (เวสสุวรรณ) ภาษาทมิฬ เรียก กุเวร ว่า กุเปรัน ซึ่งมีเรื่องอยู่ในรามเกียรติ์ว่า เป็นพี่ต่างมารดาของ ทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ไปแย่งบุษบก ของท้าวกุเวรไป ท้าวกุเวรมีรูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน 8 ซี่ และมีขาสามขา (ภาพท้าวเวสสุวรรณจึงมักเขียนท่ายืนแยงแย ถือไม้กระบองยาว อยู่หว่างขา)  เมืองท้าวกุเวร ชื่อ อลกาอยู่ บนเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่ไหล่เขาแห่งหนึ่ง  ของเขาพระสุเมรุ ชื่อว่า สวนไจตรต หรือ มนทร มีพวกกินนร  และคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้ ท้าวกุเวรเป็นโลกบาล ประจำทิศเหนือ จีน เรียกว่า โต้เหวน หรือ โต้บุ๋น ญี่ปุ่น เรียก พสมอน
                ท้าวกุเวรนี้ สถิตอยู่ยอดเขายุคนธรอีสานราชธานี มีสระโกธาณีใหญ่ 1 สระ  ชื่อ ธรณี  กว้าง 50 โยชน์ ในน้ำ ดารดาษไปด้วยประทุมชาติ และคลาคล่ำไปด้วย หมู่สัตว์น้ำต่างพรรณ ขอบสระมีมณฑป ชื่อ ภคลวดี กว้างใหญ่ 12 โยชน์  สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ  ปกคลุมด้วยเครือเถาภควดีลดาวัลย์ ซึ่งมีดอกออกสะพรั่ง ห้อยย้อยเป็นพวงพู ณ สถานที่นี้เป็นสโมสรสถานของเหล่ายักษ์บริวาร และยังมีนครสำหรับเป็นที่แปรเทพยสถานอีก 10 แห่ง ท้าวกุเวรมียักษ์ เป็นเสนาบดี 32 ตน  ยักษ์รักษาพระนคร 12 ตน ยักษ์เฝ้าประตูนิเวศ 12 ตน ยักษ์ที่เป็นทาส 9 ตน
                นอกจากนี้ยังมีกล่าวว่าท้าวเวสสุวรรณยังมีกายสีเขียว สัณฐานสูง 2 คาวุต ประมาณ 200 เส้น มีอาวุธเป็นกระบอง มีพาหนะ ช้าง ม้า รถ บางทีปราสาท อาภรณ์มงกุฎประดับรูปนาค ดำรงอิสริยศเป็นเจ้าแห่งยักษ์ มีบริวารแสนโกฏิ ถือโล่แก้ว ประพาฬ หอกทอง

               ลัทธิความเชื่อของพราหมณ์
               กล่าวถึงประวัติของท้าวเวสสุวรรณไว้ว่า ทรง เป็นโอรสของ พระวิศรวิสุมนี กับ นางอิทาวิทา แต่ในมหาภารตะว่า  เป็นโอรสของพระปุลัสต์ ซึ่งเป็นบิดาของ พระวิศรวัส กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ท้าวกุเวร ใฝ่ใจกับท้าวมหาพรหม เป็นเหตุทำให้บิดาโกรธ จึงแบ่งภาคเป็น พระวิศวรัส หรือ มีนามหนึ่งว่า เปาลัสตยัม ซึ่งรามเกียรติ์ไทยเรียกว่า ลัสเตียน
               ท้าวลัสเตียน หรือ พระวิศวรัสซึ่งเป็นภาคหนึ่งของ พระวิศรวิสุมนี นั้น ได้นางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรักษา เป็นชายา มีโอรสด้วยกันคือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และ นางสำมะนักขา  ดังนั้น ท้าวกุเวร จึงเป็นพี่ชายต่างมารดา และร่วมบิดาเดียวกับทศกัณฐ์  เหตุที่ท้าวกุเวรผิดใจกับผู้เป็นพ่อ เพราะไปฝักใฝ่กับท่านท้าวมหาพรหม  ซึ่งเป็นเทวดา ทำให้ผู้เป็นพ่อ  คือ พระวิศรวิสุมนีโกรธ เพราะถือทิฐิว่า ตนเป็นยักษ์ ที่เป็นเทวดาต่ำศักดิ์กว่า ไม่ควรไปยุ่งกับเทวดา  ที่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า  เห็นคนอื่นดีกว่าพ่อของตน ก็เลยแบ่งภาคออกไปมีเมียใหม่ ลูกใหม่ ซะเลย  ที่ท้าวกุเวร มีใจฝักใฝ่กับท่านท้าวมหาพรหมนั้น เป็นเพราะท้าวกุเวรนั้น ต้องการบำเพ็ญตบะบารมี หรือ สร้างสมความดี  ด้วยการเข้าฌาน  และบำเพ็ญทุกรกิริยา  นานนับพันปี จนท่านท้าวมหาพรหมโปรดปราน  ประทานบุษบกให้ อันบุษบกนี้ หากใครได้ขึ้นไปแล้ว สามารถล่องลอยไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ
                เดิมทีนั้น ท้าวกุเวรครองกรุงลงกา ซึ่งมีพระวิศกรรม เป็นผู้สร้างให้ แต่นางนิกษา ได้ยุยงให้ทศกัณฐ์ ชิงกรุงลงกา มาจากท้าวกุเวร ทั้งยังชิงเอาบุษบกอันพระพรหมได้ประทานแก่ท้าวกุเวรมาด้วย ดังที่ได้บอกเอาไว้แล้วว่า บุษบกนี้ สามารถลอยไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก แต่มีข้อห้ามมิให้หญิงที่ถูกสมพาส (แปลว่า การอยู่ร่วม การร่วมประเวณี) จากชาย 3 คน นั่ง ซึ่งต่อมานางมณโฑ ได้นั่งบุษบก จึงไม่สามารถ ที่จะลอยไปไหนมาไหน ได้อีกเลย สำหรับ นางมณโฑ ที่แต่เดิมเป็นนางฟ้า ที่พระอิศวรประทานให้กับทศกัณฐ์ ต้องกลายมาเป็นหญิงสามผัว ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อทศกัณฐ์ได้รับตัวนางมณโฑจากพระอิศวรมาแล้ว ก็อุ้มพานางเหาะกลับมายังกรุงลงกา ขณะที่เหาะข้าม มาระหว่างทาง ได้เหาะข้ามเมืองขีดขิน ซึ่งมี “ พาลี” เป็นเจ้าเมือง พาลีโกรธ ที่ทศกัณฐ์บังอาจ อุ้มหญิงสาว เหาะข้ามหัว โดยไม่เกรงใจ จึงเหาะขึ้นไปรบกับทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์สู้ไม่ได้ เพราะพาลีได้รับพร จากพระอิศวรว่า หากรบด้วยผู้ใด ศัตรูผู้นั้นจะมีกำลังลดลงครึ่งหนึ่ง หรือมีความสามารถลดน้อยกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เมื่อทศกัณฐ์ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงถูกพาลีแย่งชิงเอานางมณโฑไปเป็นมเหสี ต่อมา เมื่อพาลีคืนนางมณโฑ ให้กับทศกัณฐ์แล้ว เมื่อตอนที่หุงน้ำทิพย์ “ หนุมาน ” ได้เข้าไปทำลายพิธี โดยปลอมตัวเป็นทศกัณฐ์ แล้วร่วมสังวาส กับนางมณโฑ นางมณโฑ จึงเป็นหญิงที่ผ่านการสมพาสชายมาถึง 3 คน คือ พาลี ทศกัณฐ์ และ หนุมาน เมื่อทศกัณฐ์ ให้นางมณโฑ ขึ้นนั่งบุษบกนี้ทีหลัง บุษบกก็เกิดการขัดข้องทางเทคนิค ไม่ลอยไปไหนมาไหน ตามต้องการ เหมือนเก่า
                ครั้นเมื่อท้าวกุเวรต้องเสียกรุงลงกาไปแล้ว ท้าวมหาพรหมท่านก็สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ “ อลกา ” หรือ “ ประภา ” อันตั้งอยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ “ เจตรรถ ” อยู่บนเขามันทรคีรี อันเป็นกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บ้างก็ว่า ท้าวกุเวร อยู่ที่เขาไกรลาส ซึ่งพระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างให้

ภาพขยาย....        ภาพขยาย....        ภาพขยาย....

                ความเชื่อตามพระพุทธศาสนา
                ในพระสูตรที่ชื่อว่า “ อาฏานาฏิยะ ” กล่าวว่า ท้าวกุเวร ตั้งเมืองอยู่ในอากาศ ข้างทิศที่อุตรกุรุทวีป (เหนือ) และ เขาพระสุเมรุ ยอดสุทัศน์ (ที่เป็นผาทอง) ตั้งอยู่ มีราชธานี 2 ชื่อ คือ อาลกมันทา และ วิสาณา มีนครอีก 8 นคร
                ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณนั้น ยังมีชื่ออีกหลายชื่อ เช่น ธนบดี หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์ ธเนศวร หมายถึง ผู้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ อิจฉาวสุ หมายถึง มั่งมีได้ตามใจ ยักษ์ราชหมายถึง เจ้าแห่งยักษ์ มยุราช หมายถึง เป็นเจ้าแห่ง กินนร รากษเสนทร์ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในพวกรากษส ส่วนในเรื่องรามเกียรติ์ เรียกท้าวเวสสุวรรณว่า ท้าวกุเรปัน
                ในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงอดีตชาติของท้าวกุเวร เอาไว้ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม 3 ภาค 2 - หน้าที่ 151 ว่า ในสมัยที่โลกยังว่าง จากพระพุทธศาสนา ไม่มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัตินั้น มีพราหมณ์ ผู้หนึ่ง นามว่า กุเวร เป็นคนใจดีมีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาชีพ ด้วยการทำไร่อ้อย นำต้นอ้อย ตัดใส่ลงไปในหีบยนต์ แล้วบีบน้ำอ้อยขายเลี้ยงชีวิตตน และบุตรภรรยา ต่อมากิจการ เจริญขึ้น จนเป็นเจ้าของ หีบยนต์สำหรับบีบน้ำอ้อยถึง 7 เครื่อง จึงสร้างที่พักสำหรับ คนเดินทาง และบริจาคน้ำอ้อย จากหีบยนต์เครื่องหนึ่ง ซึ่งมีปริมาณน้ำอ้อยมากกว่าหีบยนต์เครื่องอื่น ๆ ให้เป็นทาน แก่คนเดินผ่านไปมา จนตลอดอายุขัย ด้วยอำนาจ แห่งบุญกุศลที่บริจาคน้ำอ้อยให้เป็นทานนั้น ทำให้กุเวรได้ไปอุบัติเป็นเทพบุตร บนสวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา มีนามว่า " กุเวรเทพบุตร " ต่อมากุเวรเทพบุตร ได้เทวาภิเษกเป็นผู้ปกครองดูแล พระนครด้านทิศเหนือ จึงได้มีพระนามว่า " ท้าวเวสสุวรรณ "
               ตามหลักฐานในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ยืนยันว่า " ท้าวกุเวร " หรือ " ท้าวเวสสุวรรณ " เทวราชพระองค์นี้ ได้สำเร็จเป็น พระอริยบุคคลชั้นโสดาบันเมื่อครั้ง "จุลสุภัททะ ปริพาชก" เกิดความสงสัยในความเป็นมาแห่ง องค์สมเด็จ พระพุทธเจ้า ท่าน "ท้าวเวสสุวรรณ" องค์นี้แหละ ที่ได้เสด็จไปร่วมต้อนรับด้วย และ ยังเป็นประจักษ์พยาน เรื่องพระมหาโมคคัลลานะ ใช้เท้าจิกพื้นไพชยนตวิมาน ของพระอินทร์จนเกิดการ สั่นสะเทือนไป ทั้งดาวดึงส์ เทวโลก อันเป็นการเตือนสติสักกะเทวราชอีกด้วย และก็เชื่อกันตาม ฎีกามาลัยเทวสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 - หน้าที่ 435 ว่า " คทาวุธ " ของ " ท้าวเวสสุวรรณ " นั้น เป็นยอดศัสตราวุธ มีอานุภาพสามารถทำลายโลกใบนี้ให้เป็น จุณวิจุณภายในพริบตา
                จะเห็นได้ว่า ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณนั้น ท่านเป็นเทพที่สำคัญยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ที่พิทักษ์รักษา พระพุทธศาสนา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ท่านท้าวสักกะเทวราช หรือ พระอินทร์เลยทีเดียว ตามวัดวาอารามต่าง ๆ จะมีรูปปั้นยักษ์ 1 ตน บ้าง 2 ตนบ้าง ยืนถือกระบองค้ำพื้น ส่วนมากจะมี 2 ตน เฝ้าอยู่หน้า ประตูโบสถ์ หรือ วิหารที่เก็บของมีค่า มีพระพุทธรูป และโบราณสมบัติล้ำค่าของทางวัดบรรจุอยู่ ด้านละ 1 ตน หรือไม่ก็บริเวณลานวัด หรือที่ที่มีคนผ่านไปมาแล้วเห็นโดยง่าย บ้างก็สร้างเอาไว้ในวิหาร หรือ ศาลาโดยเฉพาะก็มี ซึ่งยักษ์เหล่านั้น ถ้าเป็น ตนเดียว ก็จะหมายถึง รูปเคารพของท้าวเวสสุวรรณ แต่ถ้าเป็น 2 ตนก็จะเป็นบริวารของท่านท้าวเวสสุวรรณ คอยทำหน้าที่ ปกปักรักษา ดูแลบริเวณวัด
               ท้าวเวสสุวรรณ  เป็นอธิบดีแห่งอสูรย์หรือยักษ์ หรือเป็นเจ้าแห่งผี เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุ ทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพมากประทับ ณ โลกบาลทิศเหนือมียักษ์เป็นบริวาร คนไทยโบราณนิยมนำผ้ายันต์รูปยักษ์ผูกไว้ที่หัวเตียงเด็ก เพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มารังควาญแก่เด็กว ท้าวกุเวรองค์นี้มีกล่าวถึงในอาฏานาฏิยปริตว่านำเทวดาในสวรรค์ชั้นจตุมหา ราชิกา มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ถวายสัตย์ที่จะดูแลพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก ไม่ให้ยักษ์หรือบริวารอื่นๆ ของท้าวจตุโลกบาลไปรังควาญ
ท้าวเวสสุวรรณ เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งมีท้าวมหาราชทั้งสี่ปกครอง คือ ท้าวธตรัฏฐะ ท้าววิรุฬหกะ ท้าววิรูปักชะ และท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวกุเวร) ประจำทิศต่างๆ ทั้งสี่ทิศโดยเฉพาะท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวกุเวร) เป็นใหญ่ปกครองบริวารทางทิศเหนือ ว่ากันว่าอาณาเขตที่ท้าวเธอดูแลปกครองรับผิดชอบมีอาณาเขตใหญ่โตมหาศาล กว้างขวาง และเป็นใหญ่ (หัวหน้าท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ) กว่าท้าวมหาราชองค์อื่น
                ท้าวเวสสุวรรณ  เป็น  เทพแห่งขุมทรัพย์  เป็น  มหาเทพแห่งความร่ำรวย มั่งคั่ง  รักษาสมบัติของเทวโลก ทั้งเป็นเจ้านายปกครองดูแลพวกยักษ์ ภูตผีปีศาจทั้งปวง (ในคัมภีร์เทวภูมิ กล่าวไว้ว่า ท้าวเวสสุวรรณได้บำเพ็ญบารมี มาหลายพันปี รับพรจาก พระอิศวร พระพรหม ให้เป็นเทพแห่งความร่ำรวย) นอกจากนี้หน้าที่ของท้าวเวสสุวรรณมีมากมาย เช่น การดูแลปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา, ปกป้องคุ้มครองแก่ผู้นั่งสมาธิปฏิบัติพระกรรมฐาน เป็นต้น
                ในคัมภีร์โบราณ  ได้กล่าวไว้ว่าผู้ใดหวัง  ความเจริญในลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา  ให้บูชารูป  ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร

ภาพขยาย....        ภาพขยาย....        ภาพขยาย....

                ท้าวเวสสุวรรณ มีทั้งหมด 4 ภาค
                - ท้าวเวสสุวรรณพรหมาสูติเทพ ชั้นพรหม มีรูปกายสีทอง ภูษาสีทอง
                - ท้าวเวสสุวรรณเทพบุตรสูติเทพ ชั้นดาวดึงค์ มีรูปกายสีทอง ภูษาสีแดง
                - ท้าวเวสสุวรรณ จาตุมมหาราช มีรูปกายสีเขียวหรือดำ ภูษาสีเขียว
                - ท้าวเวสสุวรรณ ชั้นมนุษย์ มาในรูปแบบมนุษย์

              " คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ จตุมหาราชิกา "
              จุดธูป 9 ดอก , กุหลาบแดง 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ (ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูอาจารย์)
                 ๏ ปุตตะ กาโม ละเภปุตตัง ธะนะกาโม ละเภธะนัง อัตถิกาเย กายะยายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตวาฯ
                 ๏ อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะ ฯ
                 ๏ ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อรหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ ฯ

 


   ขอขอบคุณ ข้อมูลโดย :: โก้ แม่กลอง (ผู้เรียบเรียง) , เว็บไซต์ http://www.julamanee.com , เรื่องเล่าจากอาจารย์ยอดฯ และคณะศิษย์ทุกท่าน
   ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนเช่าพื้นที่เว็บไซต์ และจดทะเบียนโดเมนเนม :: Tony Ma  (ปี 62 และปี 63)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

      ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซต์ " พระเกจิ.com "  ซึ่งได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติความเป็นมาของพระเกจิยอดนิยม ทั้งในอดีต และปัจจุบันตลอดจนข้อมูลวัตถุมงคลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาหาข้อมูล....