เมนู " วัดประดู่พระอารามหลวง "
   ตำนานวัดประดู่ พระอารามหลวง
   หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
   หลวงปู่แจ้ง  ปุณยจนฺโท
   ประวัติเจ้าอาวาส (พระมหาสุรศักดิ์ฯ)  
   หัตถประติมากรรม " หุ่นดินสอพอง "
   CD เพลงชุด รวยแน่นๆ
   ติดต่อเราและแผนที่ / Facebook
   วัตถุมงคลวัดประดู่ พระอารามหลวง
   วัตถุมงคลที่เมตตาอุปถัมป์ฯ
      - เหรียญพระนาคปรกเจริญพร
      - พระเจ้าสัว อัมพวา
      - เหรียญหล่อพระพรหมประสิทธิ์
      - หลวงปู่ทวด รุ่น เมตตาบารมี
   
   



 

 

วัดประดู่ :: ที่ตั้ง ตำบลวัดประดู่   อำเภออัมพวา   จังหวัดสมุทรสงคราม

                    วัดประดู่ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศักราช 2320 จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่ามีแก่นไม้ประดู่ด้านหนึ่ง เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมยาวขนาดเท่าใบลานใช้เป็นที่อัดใบลาน ได้นำไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อประดู่ นอกจากนี้ วัดประดู่ ยังเป็นวัดที่มีเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจมากมาย มีทั้งขุมสมบัติมหาศาลและลายแทงสมบัติ ที่มีรูอยู่เก้าแห่ง รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ตรงไหนเปียกไม่ยอมแห้งให้แทงรูนั้น มีบางคนเคยเห็นเป็ดเงินและเป็ดทองคำออกมาเดินเล่นน้ำฝนและหายลงไปในสระ ยังมีพระพุทธรูปทองคำหน้าตัก ประมาณสองศอก จมตกหายลงไปในสระ ปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ทับปิดสระน้ำไปแล้ว และมีเรือชะล่าใหญ่จมลงไปในสระ มักมีนักแสวงโชคมาขุดหาสมบัติแต่สุดท้ายมักคว้าน้ำเหลว

          

                     วัดประดู่ นับว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ ในสมัยหลวงปู่แจ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นทางชลมารคมายัง วัดประดู่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2477 และทรงเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาต่อ หลวงปู่แจ้ง สมัยนั้นหลวงปู่แจ้ง เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาววัดประดู่ เมื่อพระองค์เกิด พระราชศรัทธาต่อ หลวงปู่แจ้ง ได้นิมนต์หลวงปู่แจ้งเข้าไปใน พระราชวังหลายครั้งด้วยกัน ที่สำคัญพระองค์ได้ถวายเครื่องราชศรัทธา ที่สำคัญๆ อันทรงคุณค่าไว้ให้หลวงปู่แจ้งเช่น เรือเก๋งพระที่นั่ง พระแท่นบรรทม ตาลปัตร ปิ่นโตสลักบาตร เป็นต้น
                     จนกระทั่งใน พ.ศ. 2543 จึงได้จัดตั้ง " พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 " ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังคาแฝด ปิดทองฝาสกลทั้งหลัง เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเครื่องราชศรัทธา และเป็นสมบัติของชาติสืบต่อไปและเพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมและพัฒนาเยาวชนให้เป็น ยุวมัคคุเทศก์อีกด้วย

          

                     ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาได้เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธาต่างๆมากมาย อาทิ พระแท่น บรรทมตาลปัตร นามาภิไธยย่อ จปร. และตาลปัตรนารายณ์ทรงครุฑพร้อมปอกหลังสำหรับคลุม ตู้เล็กและตู้ทึบ ปิ่นโต บาตร พร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกตัวย่อ สพปมจ. ย่อมาจากคำว่าสมเด็จพระปรมินทรามหาจุฬาลงกรณ์กาน้ำทองแดงมีตราสัญลักษณ์ กี่ใส่ยาฉุน ถาดใส่ของ ตะเกียงเจ้าพายุ นาฬิกาปารีส เป็นต้น
                     นอกจากนี้ภายในวัดยังมี " ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 " ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 ลักษณะเป็นทรงไทยชั้นเดียว ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาเก๋งเรือพระราชทาน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหลายพระองค์ และสมเด็จข้าราชบริพารได้เสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือขนาด 4 แจว ขุดจากซุงไม้สักหรือตะเคียน พระองค์ได้จอดแวะพักและผูกเรือพระที่นั่ง ณ ต้นสะเดา เพื่อทำครัวเสวยพระกายาหารเช้า เก๋งเรือพระราชทานนี้ ปัจจุบันทางวัด ได้บูรณะซ่อมแซมจากของเดิมที่ชำรุดให้ สมบูรณ์สวยงาม

          

                     ภายในวัดยังมี " พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก " สร้างใน พ.ศ. 2548 ลักษณะเป็นทรงไทย 2 ชั้น 4 หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทอง ฝาสกล สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยม วัดประดู่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ได้เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยเหตุในการเสด็จครั้งนั้น พระองค์ได้เคยเสด็จวัดประดู่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยได้เสด็จมาพร้อมกับพระบิดา ของพระองค์ท่าน ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นปลัดอำเภออัมพวาและพระองค์ได้ทอดพระเนตร วีซีดีประวัติ วัดประดู่ อีกครั้งเพื่อย้อนรำลึกถึงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระองค์ได้เคยเสด็จมา วัดประดู่ แห่งนี้พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวรฯ แห่งนี้นอกจากจะเป็นอนุสรณ์ให้กับชุมชนชาว วัดประดู่ แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้รู้จัก พระสังฆราช ตั้งแต่องค์แรกจนถึงองค์ปัจจุบันผ่าน หุ่นปั้น ตลอดจนสิ่งของต่างๆที่ทางสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระราชทานถวายให้กับวัดประดู่

          

                     สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญในวัดประดู่ก็คือ " ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู(หอศิลป์) " สร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 ด้วยเล็งเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมต่างๆถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน ซึ่งหอศิลป์แห่งนี้เปิดให้ชุมชน และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาขั้นตอนการทำและการฝึก ทำหัวโขน และเศียรครู โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้จากผู้ชำนาญของผู้ดูแลศูนย์ ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชน วัดประดู่ ที่ได้เล่าเรียน ศึกษา จากผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการทำหัวโขนและเศียรครูโดยตรง สำหรับ " พระอุโบสถ " วัดประดู่ ภายในสวยงามด้วยภาพเขียนผนังสีสันสดใสสวยงาม ตรงกลางด้านหลังพระประธาน เป็นภาพเขียนต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระประธานในพระอุโบสถตรัสรู้พร้อมอัครสาวก เบื้องซ้ายและขวา บริเวณด้านข้างหน้าต่างทั้งซ้ายและขวา มีเทวดาหุ่นปั้นมากมายแสดงความยินดี ด้านศาลาการเปรียญใกล้ๆกับพระอุโบสถ มีภาพวาดบนผนังเพดานแบบดั้งเดิม ที่วาดด้วยสีฝุ่นดินสอพอง สมัย รัชกาลที่ 2  ซึ่งได้รับอารยธรรมมาจากจีน อาทิภาพชุมนุมเทวดา/ชุมนุมเทพ ภาพหนุมานแผลงฤทธิ์เหินเวหา ภาพฤาษี ภาพคนธรรพ์ ภาพหัวล้านชนกัน และภาพพุทธประวัติในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น พระเจ้าสุทโธทนะอภิเษกกับ พระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นต้น

     ภาพขยาย....     ภาพขยาย....

                     นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ด้านหลังของพระอุโบสถ ซึ่งติดกับท่าน้ำอัมพวาได้นำมาใช้ประโยชน์ให้ชาวบ้าน นำสินค้ามาจำหน่าย เช่น อาหารและสินค้าชุมชนต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้เรียนรู้ ภูมิปัญญา ท้องถิ่นภายในวัด และจะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย

อัฐิของหลวงปู่แจ้ง ปัจจุบันมีสภาพเป็นสีดำสนิท      อัฐิของหลวงปู่แจ้ง ปัจจุบันมีสภาพเป็นสีดำสนิท      อัฐิของหลวงปู่แจ้ง ปัจจุบันมีสภาพเป็นสีดำสนิท

          

 อัฐิของหลวงปู่แจ้ง ปัจจุบันมีสภาพเป็นสีดำสนิท  และตำราของหลวงปู่แจ้ง ที่ตกทอดมาถึงหลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์  อติสกฺโข

 

                    จากอดีตจนถึงปัจจุบันวัดประดู่มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งหมด 8 รูปดังนี้.-
  1. หลวงปู่มา
  2. หลวงปู่กลม
  3.หลวงปู่กล่อม
  4. หลวงปู่แจ้ง  ปุณฺยจนฺโท
  5. หลวงปู่แจ่ม
  6. พระครูนิพัทธ์วรการ (เอี้ยง   สุวณฺณปทุโม)
  7. พระครูนิพัทธ์วรการ (เพี้ยน  เขมาภิรโต)
  8. พระครูพิศาลจริยาภิรม (พระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข)
   
   
พระครูพิศาลจริยาภิรม (พระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข)
   
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

                     ปริศนาธรรม วัดประดู่ พระอารามหลวง
                     “ วัดประดู่มีรู 9 แห่ง รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ” ปริศนาธรรมนี้แสดงว่าไม่ได้หมายถึงสิ่งของที่อยู่ในพื้นดิน มันต้องมีความหมายอยู่ในตัวหนังสือถ้าอยู่ในตัวหนังสือจริงๆ ก็แสดงว่ามันจะต้องมีอะไรสักอย่าง อาตมาก็เลยคิดตามปริศนาท่อนที่ว่า “ รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ” แล้วก็มุ่งประเด็นไปที่หลวงปู่แจ้ง อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ เมื่อไปค้นดูประวัติของหลวงปู่แจ้ง ท่านไม่ใช่ธรรมดาเลย ท่านเป็นถึงอาจารย์ของรัชกาลที่ 5 เป็นอาจารย์ของ หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว(วัดศรีอุปลาราม) จังหวัดกาญจนบุรี ,หลวงปู่คง ธมฺมโชโต วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม ,หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต (พระครูพินิจสุตคุณ) วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี และเป็นอาจารย์ของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แต่อาตมาไม่อยากจะพูดเป็นอาจารย์หรอก อยากใช้คำว่า “ ทรงมีพระราชศรัทธาต่อหลวงปู่ ”
                     โยมปู่ใหญ่ ยังมีสุข ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของที่นี่ และเคยเป็นกรรมการวัดได้เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่แจ้ง และหลวงปู่นวม อดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ อยู่ในสมัยยุคเดียวกัน “ หลวงปู่นวมเข้าป่า หลวงปู่แจ้งเข้าวัง ” แต่หลังจากหลวงปู่แจ้งสิ้นอายุขัยไปแล้ว วัดประดู่ก็หมดไม่มีอะไรเกี่ยวกับพระราชวังอีกเลย

                     วิญญาณที่วัดประดู่
                     ตอนที่อาตมายังเป็นเด็กวัด หลวงปู่ท่านบอกเอ็งอย่าไปเล่นหลังวัดนะ ผีสัปดนมันไปผูกเปลนอนอยู่บนต้นมะม่วง หลวงปู่ท่านห้าม ก็คิดว่าหลวงปู่ท่านต้องหลอกเราแน่ๆ เลย ไม่อยากให้เราไปเล่นหลังวัด เพราะว่าเมื่อก่อนหลวงปู่มาบังสุกุลที่ป่าช้า เมื่อก่อนที่นี่เป็นป่าช้าหมด เดี๋ยวนี้ร่องรอยไม่เห็นแล้ว แต่ก่อนเวลาสวดมนต์กำลังเพลินๆ จะได้ยินเหมือนเสียงกล่อมลูก เอ้...เอ้...เอ้ แสดงว่าที่หลวงปู่เคยห้ามเราท่าจะเป็นจริง พอสวดมนต์เสร็จก็เลยกรวดน้ำถวายสังฆทานอุทิศบุญให้ แล้วจากนั้นก็ไม่ได้ยินอีกเลย แล้วต้นมะม่วงต้นนั้นก็แห้งตาย เลยสืบดูว่าเคยมีใครเอาผีตายท้องกลมหรือคนท้องมาเก็บบ้างไหม ก็มีจริงๆ เขาเก็บไว้ในโกดัง เพราะตรงนี้เป็นป้าช้า แล้วเขาก็มาผูกเปลที่ต้นมะม่วง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไปเป็นเทวดากันหมดแล้ว ไม่มีผีที่วัดประดู่อีกต่อไป

 

 

 

 

 

 


   ขอขอบคุณ ข้อมูลโดย :: " ทีมงานปิดทองหลังพระ "   และศิษย์พระมหาสุรศักดิ์ ทุกท่านที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
   ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนเช่าพื้นที่เว็บไซต์ และจดทะเบียนโดเมนเนม :: Tony Ma  (ปี 62 และปี 63)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

      ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซต์ " พระเกจิ.com "  ซึ่งได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติความเป็นมาของพระเกจิยอดนิยม ทั้งในอดีต และปัจจุบันตลอดจนข้อมูลวัตถุมงคลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาหาข้อมูล....