พระพรหม-พระวิษณุกรรม-พระพิราพ
ธรรมะจากหลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข สิ่งที่จะทำให้คนนี้วุ่นวาย เกิดจากคน ก็คือคนที่ร่วมงาน คนรอบข้างของเราอะไรเรา เป็นญาติเป็นพี่เป็นน้อง แล้วก็ตัวเรา เกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เราไม่ชอบ เราไม่อยากจะอยู่ คือพอไปตรงนั้นแล้วมันอ่อนอกอ่อนใจ มันหงุดหงิด ไม่สบายใจ นั่งก็ไม่สบาย ยืนก็ไม่สบาย เดินก็ไม่สบาย นี่เขาเรียกว่าเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อม เกิดจากปัจจัยกับสิ่งที่อำนวยความสะดวกเราทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเงิน ใช่ไหม..... นี่แหละที่จะทำให้จิตใต้สำนึกของเราจะกวนขุ่นให้เราหม่นหมอง เราก็ต้องหาสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไรแน่นอน ทำไมเป็นอย่างนั้น บางทีเราก็ไปโทษตรงนี้ โทษว่าดวงไม่ดีบ้างอะไรไม่ดีบ้าง แต่ถามว่าดวงเขามีจริงไหม มี เขาวางไว้เป็นสถิติเหมือนกันว่าถึงตรงนี้เป็นตรงนี้วันจะเกิดเรื่องเกิดเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ ก็บอกเรา ตอนนั้นมีโยมอยู่คนหนึ่งสนิทกันนะ อยู่ๆ ก็มาบอกว่า มหาผมไม่รู้เป็นอะไร ร้อนใจเหลือเกินนอนก็ไม่หลับกระสับกระส่าย นอนไม่หลับมันก็ร้อนข้างใน อาตมาก็บอกว่าลองไปคิดดูให้ดีสิมีอะไรหรือเปล่า ไปคิดดูลึกๆ หน่อย พออีกสองวันเขาก็มาบอก ท่านมหาผมนึกได้ละ ผมนึกออกแล้ว สมัยเป็นวัยรุ่นผมเคยขับรถเครื่องเข้าไปกราบพระพุทธชินราช บอกกล่าวกับท่านว่าถ้าภายหน้ามีวาสนามีรถเก๋งจะขับมาไหว้หลวงพ่อ แต่พอมีรถเก๋งแล้วก็ลืม อาตมาก็เลยบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต้องรีบไปเลยนะ เขาก็รีบไปกราบ แล้วยังอธิษฐานต่ออีกว่าอยากจะได้รถเก๋งอีก ต่อมาก็ได้รถเก๋งแอคคอร์ดมาอีกคัน ก็ต้องไปกราบหลวงพ่อพระพุทธชินราช ไปกัน 1 คนกับพระอีก 1 รูป เสร็จแล้วก็เดินทางกลับ พอกลับมาถึงก็มาบอกกับอาตมาว่า มหาผมไม่รู้ขอท่านมากไปหรือเปล่า คราวนี้ผมขอเบนซ์ ต่อมาปีกว่าๆ ก็ซื้อเบนซ์ซีคลาสอีกคันหนึ่ง พอได้รถเบนซ์ อาตมาก็ต้องไปด้วยอีก พอกลับออกมาเขาก็บอกอาตมาว่าคราวนี้ขอเบนซ์ตากลม แล้วก็ซื้อเบนซ์ตากลมได้อีก ก็ต้องไปไหว้กันอีก นั่งเบนซ์นี่หละไป แต่คราวนี้อาตมาไม่ต้องรอให้เขาบอก อาตาบอกกับเขาว่าจะขอหรือไม่ขอนี่อาตมาไม่ได้ว่านะ มีเงินอาตมาก็ดีใจด้วย แต่อยากจะให้เก็บไว้บ้าง ไม่ใช่ไปหมดกับรถหมด ฮอนด้าแอ็คคอร์ด รถเบนซ์ซีคลาส เบนซ์ตากลม รวมๆแล้วเกือบ 10 ล้าน หมดไปกับรถ อาตมาบอกว่าควรจะหยุดได้แล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมาก็เลยไม่ซื้ออะไร อาตมาชอบกลอนบทนี้ที่ว่า....... อันทีพึ่ง พึ่งได้แต่บางสิ่ง เช่นพึ่งกิน ผ่านเกล้าเจ้าอยู่หัว พึ่งแรงคน ใช้จนควายวัว ใช่จะพ้นพึ่งตัว เสียเมื่อไหร่ ทีนี้เราก็มานั่งตรึกนึกเอาเอง มันก็ได้ความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า คนเรานี้ชีวิตต้องมีสิ่งสามอย่างที่จะรวมเป็นกำลังให้ชีวิตแก่เรา 1.ขวัญกำลังใจ คนเราต้องมีขวัญกำลังใจ ถ้ามีขวัญกำลังใจทำอะไรก็มีไฟที่จะทำ ถ้าเกิดขาดขวัญกำลังใจแล้วมันอ่อนมืออ่อนไม้อ่อนใจไปหมด รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงไปหมด แล้วมันทำอะไรไม่ได้ 2.สติปัญญา สติคือตัวคอยเบรกให้กับเรา บางทีมองไปบนเมฆนี่ โอ้โห เมฆก้อนนี้สวย ถ้าเราเหาะได้ก็จะดี ไปยืนบนก้อนเมฆอะไรอย่างนี้ นะ สติก็จะคอยเบรกว่าไมได้นะ เราเหาะขึ้นไปไม่ได้ ถ้าเกิดสติไม่คอยเบรก เกิดขึ้นไปบนต้นไม้จะเหาะแล้วจะไปอยู่บนเมฆ อะไรอย่างนี้เขาก็หาว่าเราบ้า เพราะฉะนั้นสติคือตัวเบรก ส่วนปัญญาเป็นตัวพิจารณาว่า สิ่งนี้จะทำได้ไหม จะเสียมากไหม จะได้มากไหม อะไรย่างนี้ ตัวปัญญามันจะเป็นตัวฉาย 3.บุญบารมี นี้สำคัญที่สุด บุญบารมีนี้เราต้องสร้างต้องสั่งสมเอาไว้ เหมือนน้ำตุ่มต้องคอยตักคอยเติมอยู่ประจำให้เต็มบริบูรณ์ เพราะบุญบารมีเป็นตัวช่วยสนับสนุนช่วยอุปถัมภ์เราตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไรจะมีความสำเร็จ แต่บางทีโคจรไปเที่ยวกันคนละจังหวะ บางครั้งขวัญและกำลังใจไปเที่ยวออกไป แต่สติปัญญาอยู่ มันก็ทำให้เราห่อเหี่ยว จะทำอะไรก็ไม่มีกำลังใจจะทำ แต่บางทีขวัญและกำลังใจอยู่แต่สติปัญญาออกไปเที่ยว พอออกไปปุ๊บจะทำละ ไม่ฟังเสียงใคร ตรงนี้จะทำ ก็เลยเป็นว่าขาดความยั้งคิด แต่บางทีขวัญและกำลังใจก็อยู่สติปัญญาก็อยู่แต่บุญสัญจรไปเที่ยว ทำอะไรก็ไม่เกิดไม่งอกเงยไม่งาม อุปมาเหมือนเราจะปลูกพริก ก่อนจะปลูกพริกกิโลฯเป็น 100 เราปลูกพริกออกมาก็ดี เม็ดก็งาม แต่เวลาขายเหลือกิโลฯ 10 บาท อะไรอย่างนี้เขาเรียกว่าบุญบารมีสัญจรไปเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าพวกเรามีเวลาช่วงจังหวะดีๆ กินข้าวอาบน้ำร่างกายสบายแล้วก็มานั่งนึกดูว่า บัดนี้ขวัญและกำลังใจของข้าพเจ้า สติปัญญาของข้าพเจ้า บุญบารมีของข้าพเจ้าได้สัญจรไปเที่ยวที่ไหน เที่ยวในป่า เที่ยวในทะเล ในแม่น้ำ ห้วยหนองคลองบึง ขอให้กลับมาในรูปกายของข้าพเจ้า ณ บัดนี้ เรียกให้กลับคืนมา ก็จะรวมกันมา เป็นกลุ่มเลย แล้วให้สังเกตดูนะ ก่อนเรียกกลับหลังเรียกนี้ใจจะไม่เหมือนกัน เหมือนเราเปิดไฟปุ๊บ อยากจะหยิบอะไรก็หยิบได้เพราะเขามารวมกลุ่มกันแล้วแต่ส่วนใหญ่จะไม่รวมกลุ่มกัน จะออกไปทีละจังหวะเหมือนกับคนมีลูก กลับมาไม่พร้อมกัน นานๆ ทีจะกลับมาพร้อมกัน ใช่ไหม.... พอกลับมาพร้อมกันพ่อแม่ชุ่มชื่นใจ เห็นกันอยู่หลายคน นั่นลูกคนนั้น นี่ลูกคนนี้ มันชุ่มชื่นใจ แต่ถ้าหากจังหวะเขามาด้วยกันเราก็ต้องเรียก ถ้าอยากให้ลูกมาอยู่ด้วยก็เหมือนกัน เฮ้ย มานี่หน่อย พ่อมีงานมีอะไร....เขาถึงจะมาใช่ไหม ทีนี้ใจมันจะปราโมทย์ พอใจมันปราโมทย์มันก็ทำอะไรได้ ทำงานทำอะไรไปได้ รับรองไม่หงุดหงิด ไม่รู้จังหวะ แต่บุญนี่ควรจะทำอยู่เนืองๆ เช่น เดือนหนึ่งถวายสังฆทานสักหน หนึ่งในวันที่เป็นวันเกิดของเราก็ได้ ก็ถวายสังฆทานที่ไหนก็ได้ ที่เขาตระเตรียมเอาไว้ก็ได้ ไม่เป็นไรเขาเรียกสังฆทานเวียนเทียน ก็ถวายได้ เพราะเงินที่เราบริจาคไปเขาก็เอาไปสร้างวัดสร้างอะไรต่ออะไรเพราะเรายังมีชีวิต เหมือนกับบ้านเราอยู่หน้าริมคลองเดี๋ยวสวะเดี๋ยวหมาเน่าบ้างเดี๋ยวผักตบลอยมาเรื่อยๆ เราจะทำยังไง เราต้องการใช้น้ำไม่ให้มีสวะไม่ให้มีอะไรเข้ามา ก็ต้องเอาไม้กั้นเอาไว้ ทีนี้พอกั้นเอาไว้เกิดมันมากอใหญ่มันก็กั้นไม่ไหว ทานไม่ไหว พลอยให้ไม้พังไปด้วย ก็ต้องเสียบเพิ่มเป็น 10 อัน 20 อัน 100 อัน อย่างหนาแน่นเลย ถามว่าผักตบชวามันหายไปไหนไหม ไม่หายหรอก แต่เราได้น้ำใช้ เหมือนกัน บุญนี้ก็เหมือนกับเราเสียบ ทำไว้ๆหนาแน่น ไอ้กรรมเก่าที่จะมามันติดอยู่ให้ผลไม่ได้เพราะเรากั้นไว้แล้ว ก็จะมีคนที่ชื่อบุญช่วย เคยได้ยินไหม..... ไม่ใช่บุญชูนะ ต้องบุญช่วย หมายถึงว่ากรรมนั้นไม่ได้หายไปแต่บุญนี้เราแผ่ไว้หนาแน่น กว่าไม้อันแรกมันจะผุเราก็แผ่ไว้มากมายแล้ว ทีนี้เราก็สบาย กรรมเก่าไม่ส่งผลให้ แต่บุญใหม่กลับเสริมเรา เพราะคำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟูขึ้น หรือทำให้สูงขึ้น บุญเป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทาน รักษาศีลแล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก หรือเกิดความฟูใจว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา มีวิธีการทำบุญ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ แปลว่าสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ คือ 1.ทานมัย ให้ทานแบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือส่วนรวม 2.ศีลมัย รักษาศีลเป็นการฝึกฝนที่จะลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ 3.ภาวนามัย เจริญภาวนา การเจริญภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่าจิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น 4.อปจายนมัย อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิดและความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดถือมั่น ในความเป็นตัวตน 5.เวยาวัจจมัย ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ 6.ปัตติทานมัย เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ 7.ปัตตานุโมทนามัย ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือการทำบุญของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนาในการกระทำความดีของผู้อื่น 8.ธรรมสวนมัย ฟังธรรมบ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม 9.ธรรมเทศนามัย แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น นำธรรมะไปบอกกล่าวเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม 10.ทิฏฐุชุกรรม ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม และมีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ จุดมุ่งหมายแห่งการทำบุญนั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ 1.เพื่อประโยชน์สุขปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) เพื่อให้เกิดลาภบริวาร สถานภาพความเป็นอยู่ ความสุข คำชมเชยสนองตอบกลับมา นั่นคือ คุณภาพ ชีวิตที่ดี เศรษฐกิจที่ดี และการยอมรับที่ดีจากสังคม รอบข้างที่เราอยู่ ที่สุดก็เพื่อให้คนเรารู้จักเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกันฉันพี่น้อง คนที่เดือดร้อนก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ไม่ถูกทอดทิ้ง มีชีวิตอยู่ร่วมกันเป้นสังคมที่มีความสุข เพราะคนเราในโลกต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน จะอยู่แบบตัวใครตัวมันไม่ได้ 2.เพื่อประโยชน์สุขที่สูงขึ้น (สัมปรายิกัตถะ) นั่นคือในระดับจิตที่สูงขึ้นไป เพื่อเราจะได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ให้พัฒนาเติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีศีลธรรม มีคุณธรรม มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทีความอบอุ่น ซาบซึ้งสุดใจด้วยศรัทธา ภาคภูมิใจ อิ่มใจ แล้วกล้า มั่นใจในชีวิตที่ได้ทำบุญ 3.เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถะ) คือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต ได้แก่การรู้แจ้ง สภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของโลกของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต มีจิตเป็นอิสระปลอดโปร่งผ่องใส ไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิต หรือการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักในชีวิต ไม่ถูกบีบคั้นโดยความยึดมั่นของตนเอง เย็นสว่างไสวโดยสมบูรณ์
:: ขอขอบคุณ คณะศิษย์วัดประดู่ ทุกท่าน...ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล ::