วัดประดู่ :: ที่ตั้ง ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดประดู่ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศักราช 2320 จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่ามีแก่นไม้ประดู่ด้านหนึ่ง เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมยาวขนาดเท่าใบลานใช้เป็นที่อัดใบลาน ได้นำไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อประดู่ นอกจากนี้ วัดประดู่ ยังเป็นวัดที่มีเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจมากมาย มีทั้งขุมสมบัติมหาศาลและลายแทงสมบัติ ที่มีรูอยู่เก้าแห่ง รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ตรงไหนเปียกไม่ยอมแห้งให้แทงรูนั้น มีบางคนเคยเห็นเป็ดเงินและเป็ดทองคำออกมาเดินเล่นน้ำฝนและหายลงไปในสระ ยังมีพระพุทธรูปทองคำหน้าตัก ประมาณสองศอก จมตกหายลงไปในสระ ปัจจุบันได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ทับปิดสระน้ำไปแล้ว และมีเรือชะล่าใหญ่จมลงไปในสระ มักมีนักแสวงโชคมาขุดหาสมบัติแต่สุดท้ายมักคว้าน้ำเหลว
วัดประดู่ นับว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ ในสมัยหลวงปู่แจ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นทางชลมารคมายัง วัดประดู่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2477 และทรงเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาต่อ หลวงปู่แจ้ง สมัยนั้นหลวงปู่แจ้ง เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาววัดประดู่ เมื่อพระองค์เกิด พระราชศรัทธาต่อ หลวงปู่แจ้ง ได้นิมนต์หลวงปู่แจ้งเข้าไปใน พระราชวังหลายครั้งด้วยกัน ที่สำคัญพระองค์ได้ถวายเครื่องราชศรัทธา ที่สำคัญๆ อันทรงคุณค่าไว้ให้หลวงปู่แจ้งเช่น เรือเก๋งพระที่นั่ง พระแท่นบรรทม ตาลปัตร ปิ่นโตสลักบาตร เป็นต้น
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2543 จึงได้จัดตั้ง " พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 " ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังคาแฝด ปิดทองฝาสกลทั้งหลัง เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเครื่องราชศรัทธา และเป็นสมบัติของชาติสืบต่อไปและเพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมและพัฒนาเยาวชนให้เป็น ยุวมัคคุเทศก์อีกด้วย
ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาได้เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธาต่างๆมากมาย อาทิ พระแท่น บรรทมตาลปัตร นามาภิไธยย่อ จปร. และตาลปัตรนารายณ์ทรงครุฑพร้อมปอกหลังสำหรับคลุม ตู้เล็กและตู้ทึบ ปิ่นโต บาตร พร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกตัวย่อ สพปมจ. ย่อมาจากคำว่าสมเด็จพระปรมินทรามหาจุฬาลงกรณ์กาน้ำทองแดงมีตราสัญลักษณ์ กี่ใส่ยาฉุน ถาดใส่ของ ตะเกียงเจ้าพายุ นาฬิกาปารีส เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในวัดยังมี " ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 " ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 ลักษณะเป็นทรงไทยชั้นเดียว ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาเก๋งเรือพระราชทาน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหลายพระองค์ และสมเด็จข้าราชบริพารได้เสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือขนาด 4 แจว ขุดจากซุงไม้สักหรือตะเคียน พระองค์ได้จอดแวะพักและผูกเรือพระที่นั่ง ณ ต้นสะเดา เพื่อทำครัวเสวยพระกายาหารเช้า เก๋งเรือพระราชทานนี้ ปัจจุบันทางวัด ได้บูรณะซ่อมแซมจากของเดิมที่ชำรุดให้ สมบูรณ์สวยงาม
ภายในวัดยังมี " พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก " สร้างใน พ.ศ. 2548 ลักษณะเป็นทรงไทย 2 ชั้น 4 หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทอง ฝาสกล สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยม วัดประดู่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ได้เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยเหตุในการเสด็จครั้งนั้น พระองค์ได้เคยเสด็จวัดประดู่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยได้เสด็จมาพร้อมกับพระบิดา ของพระองค์ท่าน ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นปลัดอำเภออัมพวาและพระองค์ได้ทอดพระเนตร วีซีดีประวัติ วัดประดู่ อีกครั้งเพื่อย้อนรำลึกถึงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระองค์ได้เคยเสด็จมา วัดประดู่ แห่งนี้พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวรฯ แห่งนี้นอกจากจะเป็นอนุสรณ์ให้กับชุมชนชาว วัดประดู่ แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้รู้จัก พระสังฆราช ตั้งแต่องค์แรกจนถึงองค์ปัจจุบันผ่าน หุ่นปั้น ตลอดจนสิ่งของต่างๆที่ทางสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระราชทานถวายให้กับวัดประดู่
สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญในวัดประดู่ก็คือ " ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู(หอศิลป์) " สร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 ด้วยเล็งเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมต่างๆถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน ซึ่งหอศิลป์แห่งนี้เปิดให้ชุมชน และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาขั้นตอนการทำและการฝึก ทำหัวโขน และเศียรครู โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้จากผู้ชำนาญของผู้ดูแลศูนย์ ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชน วัดประดู่ ที่ได้เล่าเรียน ศึกษา จากผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการทำหัวโขนและเศียรครูโดยตรง สำหรับ " พระอุโบสถ " วัดประดู่ ภายในสวยงามด้วยภาพเขียนผนังสีสันสดใสสวยงาม ตรงกลางด้านหลังพระประธาน เป็นภาพเขียนต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระประธานในพระอุโบสถตรัสรู้พร้อมอัครสาวก เบื้องซ้ายและขวา บริเวณด้านข้างหน้าต่างทั้งซ้ายและขวา มีเทวดาหุ่นปั้นมากมายแสดงความยินดี ด้านศาลาการเปรียญใกล้ๆกับพระอุโบสถ มีภาพวาดบนผนังเพดานแบบดั้งเดิม ที่วาดด้วยสีฝุ่นดินสอพอง สมัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งได้รับอารยธรรมมาจากจีน อาทิภาพชุมนุมเทวดา/ชุมนุมเทพ ภาพหนุมานแผลงฤทธิ์เหินเวหา ภาพฤาษี ภาพคนธรรพ์ ภาพหัวล้านชนกัน และภาพพุทธประวัติในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น พระเจ้าสุทโธทนะอภิเษกกับ พระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นต้น
นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ด้านหลังของพระอุโบสถ ซึ่งติดกับท่าน้ำอัมพวาได้นำมาใช้ประโยชน์ให้ชาวบ้าน นำสินค้ามาจำหน่าย เช่น อาหารและสินค้าชุมชนต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้เรียนรู้ ภูมิปัญญา ท้องถิ่นภายในวัด และจะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย
อัฐิของหลวงปู่แจ้ง ปัจจุบันมีสภาพเป็นสีดำสนิท ตำราของหลวงปู่แจ้ง ที่ตกทอดมาถึงพระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข
จากอดีตจนถึงปัจจุบันวัดประดู่มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งหมด 8 รูปดังนี้.- |
|
|
1. หลวงปู่มา |
|
2. หลวงปู่กลม |
|
3.หลวงปู่กล่อม |
|
4. หลวงปู่แจ้ง ปุณฺยจนฺโท |
|
5. หลวงปู่แจ่ม |
|
6. พระครูนิพัทธ์วรการ (เอี้ยง สุวณฺณปทุโม) |
|
7. พระครูนิพัทธ์วรการ (เพี้ยน เขมาภิรโต) |
|
8. พระครูพิศาลจริยาภิรม (พระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข) |
|
|
|
|
พระครูพิศาลจริยาภิรม ( พระมหาสุรศักดิ์ อติสกฺโข) |
|
|
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน |
ปริศนาธรรม วัดประดู่ พระอารามหลวง
วัดประดู่มีรู 9 แห่ง รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ปริศนาธรรมนี้แสดงว่าไม่ได้หมายถึงสิ่งของที่อยู่ในพื้นดิน มันต้องมีความหมายอยู่ในตัวหนังสือถ้าอยู่ในตัวหนังสือจริงๆ ก็แสดงว่ามันจะต้องมีอะไรสักอย่าง อาตมาก็เลยคิดตามปริศนาท่อนที่ว่า รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น แล้วก็มุ่งประเด็นไปที่หลวงปู่แจ้ง อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ เมื่อไปค้นดูประวัติของหลวงปู่แจ้ง ท่านไม่ใช่ธรรมดาเลย ท่านเป็นถึงอาจารย์ของรัชกาลที่ 5 เป็นอาจารย์ของ หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว(วัดศรีอุปลาราม) จังหวัดกาญจนบุรี ,หลวงปู่คง ธมฺมโชโต วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม ,หลวงพ่อทองสุข อินฺทโชโต (พระครูพินิจสุตคุณ) วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี และเป็นอาจารย์ของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แต่อาตมาไม่อยากจะพูดเป็นอาจารย์หรอก อยากใช้คำว่า ทรงมีพระราชศรัทธาต่อหลวงปู่
โยมปู่ใหญ่ ยังมีสุข ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของที่นี่ และเคยเป็นกรรมการวัดได้เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่แจ้ง และหลวงปู่นวม อดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ อยู่ในสมัยยุคเดียวกัน หลวงปู่นวมเข้าป่า หลวงปู่แจ้งเข้าวัง แต่หลังจากหลวงปู่แจ้งสิ้นอายุขัยไปแล้ว วัดประดู่ก็หมดไม่มีอะไรเกี่ยวกับพระราชวังอีกเลย
วิญญาณที่วัดประดู่
ตอนที่อาตมายังเป็นเด็กวัด หลวงปู่ท่านบอกเอ็งอย่าไปเล่นหลังวัดนะ ผีสัปดนมันไปผูกเปลนอนอยู่บนต้นมะม่วง หลวงปู่ท่านห้าม ก็คิดว่าหลวงปู่ท่านต้องหลอกเราแน่ๆ เลย ไม่อยากให้เราไปเล่นหลังวัด เพราะว่าเมื่อก่อนหลวงปู่มาบังสุกุลที่ป่าช้า เมื่อก่อนที่นี่เป็นป่าช้าหมด เดี๋ยวนี้ร่องรอยไม่เห็นแล้ว แต่ก่อนเวลาสวดมนต์กำลังเพลินๆ จะได้ยินเหมือนเสียงกล่อมลูก เอ้...เอ้...เอ้ แสดงว่าที่หลวงปู่เคยห้ามเราท่าจะเป็นจริง พอสวดมนต์เสร็จก็เลยกรวดน้ำถวายสังฆทานอุทิศบุญให้ แล้วจากนั้นก็ไม่ได้ยินอีกเลย แล้วต้นมะม่วงต้นนั้นก็แห้งตาย เลยสืบดูว่าเคยมีใครเอาผีตายท้องกลมหรือคนท้องมาเก็บบ้างไหม ก็มีจริงๆ เขาเก็บไว้ในโกดัง เพราะตรงนี้เป็นป้าช้า แล้วเขาก็มาผูกเปลที่ต้นมะม่วง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไปเป็นเทวดากันหมดแล้ว ไม่มีผีที่วัดประดู่อีกต่อไป
วัดประดู่ พระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 54 หมู่ที่ 2 ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามประกอบด้วยหลักเกณฑ์การขอยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง ตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ.2518 คือ มีที่ดินที่ตั้งวัดเนื้อที่จำนวน 20 ไร่ ได้ตั้งวัด พ.ศ. 2320 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2508
อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2499 มีขนาดความกว้าง 29 เมตร ยาว 48 เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐมอญ ฉาบปูนทั้งหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกา ประตูทางเข้าทำด้วยไม้สักทองแกะสลักและประตูหน้าต่างทำด้วยไม้สักทอง ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ปิดกระจกหน้าบันและ ซุ้มหน้าต่าง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงินประมาณ 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
วิหาร จำนวน 2 หลัง
หลังที่ 1 วิหารประดิษฐานอดีตเจ้าอาวาส หรือวิหารหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2537 มีขนาดความกว้าง 6.50 เมตร ยาว 10 เมตร ลักษณะทรงไทย ชั้นเดียว เป็นไม้เนื้อแข็ง พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท(สองล้านบาทถ้วน)
หลังที่ 2 วิหารประดิษฐาน พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างเมื่อ พ.ศ.2540 มีขนาดความกว้าง 8 เมตร ยาว 10 เมตร ลักษณะทรงไทย ยกพื้นสูง มีระเบียงรอบ พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท (เงินหนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)
ศาลาการเปรียญ จำนวน 1 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ.2528 ขนาดกว้าง 15.70 เมตร ยาว 22 เมตร ลักษณะทรงไทย 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นชั้นบนเป็นคอนกรีตหินขัด หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท ( สามล้านบาทถ้วน)
กุฏิ สร้างเมื่อ พ.ศ.2514 ขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 72 เมตร ลักษณะทรงไทยหมู่ 7 หลังแฝด ลักษณะ 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นเงินจำนวน 5,00,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน )
ถาวรวัตถุอื่น ๆ
1. หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2534 ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 14 เมตร ลักษณะทรงไทย ยกพื้นสูง เป็นไม้ เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน)
2. กำแพงแก้วรอบอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2538 ขนาดสูง 3 เมตร ยาว 154 เมตร ลักษณะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
3. หอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ.2514 ขนาดกว้าง 4 เมตร สูง 25 เมตร ลักษณะหอสูง 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นบ่อเลี้ยงปลา สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
4. พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 20 เมตร ลักษณะทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังแฝด ปิดทองฝาสกลทั้งหลัง ชั้นบนเป็นไม้เนื้อแข็ง ชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 8,000,000 บาท (แปดล้านบาทถ้วน)
5. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สร้างเมื่อ พ.ศ.2548 ขนาดกว้าง 18.20 เมตร ยาว 18.38 เมตร ลักษณะทรงไทย 2 ชั้น 4 หลังแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทอง ฝาสกล ชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)
6. ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างเมื่อ พ.ศ.2541 ขนาด กว้าง 7.50 เมตร ยาว 16 เมตร ลักษณะทรงไทย ชั้นเดียว พื้นเป็นคอนกรีตผสมเหล็ก ปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
7. วิหารเจ้าแม่กวนอิม สร้างเมื่อ พ.ศ.2545 ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 12 เมตร ลักษณะเป็นเก๋งจีน เป็นไม้เนื้อแข็ง ด้านล่างเป็นบ่อปลา ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
8. ศาลาประดิษฐานพระพิฆเนศวร สร้างเมื่อ พ.ศ.2549 ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร ลักษณะชั้นเดียว พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้อง พื้นปูด้วย กระเบื้องเคลือบ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
9. ศาลาสุธรรมา เป็นศาลาปฏิบัติธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ.2546 ขนาด กว้าง 7 เมตร ยาว 11 เมตร ลักษณะทรงไทยประยุกต์มุงแฝก ชั้นเดียว ยกพื้นสูง เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
10. ศาลาท่าน้ำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 7 เมตร ลักษณะทรงไทย ชั้นเดียวยกพื้น เป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้อง ใช้งบประมาณใน การก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 530,000 บาท (ห้าแสนสามหมื่นบาทถ้วน )
11. ศูนย์สาธิต ศิลปะการทำเศียรโขน สร้างเมื่อ พ.ศ.2548 ขนาดกว้าง 6.30 เมตร ยาว 6.50 เมตร ลักษณะชั้นเดียว พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง พื้นปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
12.ที่อ่านหนังสือพิมพ์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2539 ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 7 เมตร ลักษณะชั้นเดียว พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ใช้งบประมาณในการ ก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
13. ป้ายต้นสะเดาประวัติศาสตร์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2540 ขนาดกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร ลักษณะป้ายไม้ พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาจั่วทรงไทย มุงด้วยกระเบื้อง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
14. บ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างไว้เดิม บูรณะเมื่อ พ.ศ.2545 ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 7 เมตร ลักษณะเป็นบ่อน้ำลึก ก่ออิฐถือปูน พื้นโดยรอบบ่อเป็นสวนหย่อม ใช้งบประมาณในการบูรณะ เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
15. ฌาปนสถาน สร้างเมื่อ พ.ศ.2517 ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างลักษณะชั้นเดียว ยกพื้นสูง คอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐมอญ ทั้งปล่องและเตา ก่ออิฐมอญ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)
16. โรงครัว สร้างเมื่อ พ.ศ.2549 ขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 10.30 เมตร ลักษณะชั้นเดียว พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้อง พื้นปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ฝาเป็นตะแกรงเหล็กเส้น ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
:: ขอขอบคุณ คณะศิษย์วัดประดู่ ทุกท่าน...ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล :: |